ขออนุโมทนากับการสร้างบุญบารมีของท่านพุทธศาสนิกชนที่ได้ให้การสนับสนุนวัดพระธรรมกายนอร์เวย์ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หากทบทวนไปถึงเหตุการณ์เมื่อวันวาน ตั้งแต่ยังไม่ได้มีอาคารวัดที่ใช้ในปัจจุบันนี้ ตั้งแต่ปี 2546 ก็จะเห็นภาพบุคคลในหมู่คณะรุ่นบุกเบิกหลายท่านที่มีความทุ่มเทเสียสละ ทั้งทรัพย์สินเงินทอง เวลา เรี่ยวแรงกำลังและสติปัญญาในการชักชวนญาติสนิท มิตรสหาย รวบรวมญาติธรรม จนกระทั่งมีความเป็นหมู่่คณะที่สามารถทำงานเผยแผ่ธรรมะ จัดงานบุญทุกงานบุญสำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยมีจุดเริ่มตั้งแต่ที่บ้านของคุณต้อย กนกรัตน์ อยู่สวัสดิ์ ที่ฝั่งตะวันออก (Østfold) เมืองชิบท์เวท Skiptvet โดยอาราธนาพระอาจารย์มาจากศูนย์สาขาวัดพระธรรมกายจากประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นยุโรป จากนั้นจึงหมุนเวียนกันไปจัดงานบุญและรวมสาธุชนจัดกิจกรรมต่างๆ ที่บ้านกัลยาณมิตรฝั่งตะวันตก (Vestfold) ต่อมาจึงได้สถานที่จากการปรับปรุงโรงจอดรถของคุณทาร์ย่า ฮองเซ็ท (Terje Hongseth) และคุณงามตา อนุกูล ฮองเซ็ท ที่เมืองซันเนอฟอยูร์ด (Sandefjord) มาใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม จนกระทั่งในที่สุดได้ซื้ออาคารที่เมืองโฮลเมสตรานด์ (Holmestrand) เป็นสถานที่ตั้งอันมั่นคงของวัดพระธรรมกายนอร์เวย์ในวันนี้ ภาพกิจกรรมที่เกิดขึ้นและได้รับการบันทึกไว้ในสื่อต่างๆ เป็นสิ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าในงานเผยแผ่ธรรมะ ทำให้เกิดความปลื้มปีติประทับใจเมื่อเห็นภาพของทุกๆ ท่าน ตั้งแต่ในวันที่เริ่มต้นจนกระทั่งถึงวันนี้ที่เราได้เผยแผ่ธรรมะสู่จิตใจของสาธุชน ทั้งชาวไทยและชาวท้องถิ่นนอร์เวย์
กัลฯ กนกรัตน์ อยู่สวัสดิ์
ผู้นำบุญรุ่นบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์
กัลฯ งามตา อนุกูล
ผู้นำบุญรุ่นบุกเบิกสร้างวัดพระธรรมกายนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์
โดยลำพังอาคารสถานที่และศาสนวัตถุไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองจากภัยอันตรายต่างๆ ได้ ก็จะต้องถึงความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดาโดยสภาพดินฟ้าอากาศและภัยต่างๆ หากไม่มีพุทธศาสนิกชนผู้มีจิตใจอันประเสริฐมาช่วยกันทำนุบำรุงรักษาไว้ ให้เป็นมรดกอันล้ำค่าให้กับอนุชนรุ่นหลังสืบต่อไป เราจึงใช้ความสามารถทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ในการทำงานพระศาสนา โดยมีเป้าหมายอุดมการณ์ 4 ข้อที่สำคัญ คือ
1. ฝึกฝนอบรมตนเอง
หมายถึง การศึกษาธรรมะและนำมาปฏิบัติเพื่อปรับปรุงแก้ไขนิสัยอันเป็นข้อบกพร่องของตนเอง พัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ มีคุณธรรมความดี เป็นพุทธบริษัทที่ประพฤติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรม
2. สร้างบารมี
หมายถึง บุญกุศลหรือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง ทำจนเป็นปกตินิสัย จนกระทั่งบุญที่สั่งสมมากเข้าๆ อยู่ภายในจิตใจกลั่นตัวเป็นบารมี ซึ่งมีอำนาจในการกำจัดกองทุกข์ให้หมดสิ้นไปและทำให้บรรลุธรรมสามารถรู้เห็นธรรมะในระดับต่างๆ ได้ตามกำลังบารมีที่สั่งสมมา
บุญกุศล หมายถึง การสร้างบุญกุศลหรือคุณความดี ตามหลักบุญกิริยาวัตถุ มีการบริจาคทาน รักษาศีล การเจริญสมาธิภาวนาเป็นเบีื้องต้น
3. ศึกษาวิชชาธรรมกาย
หมายถึง การฝึกฝนอบรมตนให้มีวินัยในการเจริญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ที่เราเรียกสั้นๆ เป็นที่เข้าใจว่า “การฝึกสมาธิ หรือ การเจริญสมาธิภาวนา” (Meditation) เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายและได้ศึกษาวิชชาธรรมกาย
4. เผยแผ่ธรรมะและวิชชาธรรมกาย
ประมาณปี พ.ศ.2497 ห้าปีก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จะมรณภาพ คราวนั้นท่านเรียกประชุมลูกศิษย์ทั้งหมด ทั้งในวัดและนอกวัด เพื่อประกาศให้ทุกคนรับรู้ว่า อีกห้าปี ท่านจะมรณภาพ ให้ลูกๆช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพราะสำคัญและมีประโยชน์มาก วิชชานี้ช่วยคนได้ทั้งโลก
เมื่อเราได้ฝึกฝนอบรมตนเอง ศึกษาธรรมะ สร้างบุญกุศล โดยมุ่งเน้นการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อการศึกษาวิชชาธรรมกาย หรือที่เรียกว่า “ปฏิบัติธรรม” จนกระทั่งได้ผลทางใจ สามารถชนะความทุกข์และกิเลสไปได้โดยลำดับ ซึ่งเราเรียกกันว่าได้พบ “ประสบการณ์ภายใน” หรือ “ความสุขภายใน” ก็นำเอาความรู้ธรรมะมาเผยแผ่โดยการทำหน้าที่กัลยาณมิตร (หมายถึง มิตรที่ดีงาม) นำประโยชน์ทั้งในปัจจุบันชาตินี้และในภพชาติเบื้องหน้าให้กับมหาชนควบคู่ไปกับการฝึกฝนอบรมตนเองจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งกองทุกข์ของตัวเราและทุกสรรพชีวิต ที่เรียกว่า “ที่สุดแห่งธรรม” ซึ่งนับเป็นการยุติซึ่งการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ
เป้าหมายอุดมการณ์ทั้ง 4 ประการนี้ มิอาจจะทำให้สำเร็จลุล่วงโดยบริบูรณ์ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน ไม่กี่เดือนหรือไม่กี่ปี แต่จะต้องมีความเพียรในการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องยาวนาน ตลอดระยะเวลานับภพ นับชาติไม่ถ้วน เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่มีบันทึกสืบต่อกันมาในอดีตก่อนการตรัสรู้ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ และพระอรหันตเจ้าทั้งปวง เป็นเป้าหมายอุดมการณ์ที่”ไม่”สามารถจะไปถึงด้วยกระทำด้วยการกระทำที่ย่อหย่อนหรือละทิ้งได้ในทุกภพ ทุกชาติที่เรายังเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร เช่นเดียวกับความรู้สึกทางใจของที่ต้องมีการควบคุมให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมด้วยสติสัมปชัญญะโดยสม่ำเสมอ ดังนั้น ทุกสิ่งที่ดีๆ ในชีวิตจะเกิดขึ้นได้ ต้องเร่ิมต้นจากการฝึกฝนอบรมตนเอง
คุณสมบัติของบุคคลที่รักการฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร
1. หมั่นศึกษาหาความรู้ธรรมะและปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ธรรมะ หมายถึง พระธรรมคำสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความรู้ที่เที่ยงแท้แน่นอน ปฏิบัติได้จริง ผู้ที่ปฏิบัติแล้วย่อมเห็นผลดี เข้าใจในรสแห่งพระธรรมด้วยตนเอง จึงมั่นใจที่จะชักชวนผู้อื่นให้เข้ามาพิสูจน์ดูได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีจริง ดังนั้น ทุกคนควรศึกษาธรรมะ และปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
การศึกษาหาความรู้ธรรมะในปัจจุบันมีหลายช่องทางให้เข้าไปศึกษาได้ แตกต่างจากในอดีตที่มีการท่องจำด้วยมุขปาฐะ หรือการบอกเล่าต่อๆ กันมาโดยมิได้มีการจารึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในโลกปัจจุบันมีการบันทึกไว้ในรูปแบบของหนังสือ, เทป, ซีดี, เนื้อหาในระบบดิจิทัล ที่เปิดพบในหน้าเว็บเพจต่างๆ ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ในการทำงานของวัดพระธรรมกายนั้น เราจะฝึกฝนอบรมตนตามแบบอย่างที่มหาปูชนียาจารย์ท่านได้วางแนวทางการศึกษาและปฏิบัติธรรมไว้ให้แก่ศิษยานุศิษย์ ดังนั้น ทุกคนจึงติดตามชมรายการธรรมะและเนื้อหาต่างๆ ทางช่องดาวเทียมหรือที่เรียกว่า สัญญาณดาวธรรม DMC, ทางเว็บไซต์ dmc.tv ซึ่งรับชมได้เป็นประจำผ่านทางอินเทอร์เน็ต และผ่านโทรศัพท์มือถือระบบหน้าจอสัมผัส โดยเฉพาะ การรับชมการถ่ายทอดสด การแสดงพระธรรมเทศนาในรายการโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา โดยพระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ซึ่งท่านใช้สรรพนามในโรงเรียนฯ ว่า “คุณครูไม่ใหญ่”
โดยมีรายการที่ต้องศึกษาเป็นพิเศษ คือ กรณีศึกษากฎแห่งกรรม ซึ่งทำให้เข้าใจหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อละกรรมชั่ว สร้างกรรมดี เจริญสมาธิภาวนาได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชชา
ท่านสามารถดาวน์โหลดหนังสือธรรมะออนไลน์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้
- หนังสือธรรมะและวารสารต่างๆ ของวัดพระธรรมกาย
- หนังสือเรียนและสื่อประกอบการเรียน หลักสูตรปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย
- หนังสือคำสอนของยาย มรดกธรรมอันล้ำค่า
2. เป็นผู้ฟังที่ดี การเป็นผู้ที่ตั้งใจฟังการอบรมสั่งสอนจากพระอาจารย์ รวมถึงคำแนะนำจากเพื่อนกัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่การรับทราบข้อมูลข่าวสารความเป็นไปต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อการทำงานร่วมกันด้วยความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ
3. เป็นผู้ที่รักการจดบันทึก การเรียบเรียงความคิดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร
– “บันทึกประจำวัน” เพื่อการแก้ไขปรับปรุงข้อบกพร่อง, บันทึกความดี เช่น การให้ทาน, การรักษาศีล, ผลการเจริญสมาธิภาวนา, ความดีที่ทำในแต่ละวัน, บันทึกข้อคิดประจำวัน, บันทึกธรรมะที่ได้ศึกษามา เป็นต้น
– การเขียนบทความสร้างสรรค์เอื้อประโยชน์ต่องานพระศาสนา หรือ บทความให้ความรู้วิทยาทานต่างๆ
4. มีวินัยในการบริหารเวลาเพื่อฝึกฝนอบรมตนเอง รักการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่การรักษาศีล 5 ละอบายมุข 6 (ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพยาเสพติด ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่เล่นการพนัน ไม่เสพสื่อที่นำมาซึ่งความร้อนใจ เย้ายวนกิเลส เช่น หนัง,ละคร ฯลฯ ไม่เกียจคร้าน และไม่คบหาสมาคมกับคนที่ชักนำไปในทางเสื่อมเหล่านี้) และแบ่งเวลาเพิ่อการปฏิบัติธรรม บันทึกผลของการปฏิบัติธรรมได้อย่างสม่ำเสมอในแต่ละวัน
5. รักษาและพัฒนานิสัยส่วนที่ดี เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถที่ใช้ในการทำความดี
6. แก้ไขข้อบกพร่องที่เป็นเหตุแห่งการได้รับผลวิบากกรรมที่ไม่ดี รวมถึงป้องกันมิให้หมู่คณะเกิดความแตกแยก
7. สำรวมระวังคำพูดและมีทักษะในการพูดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ตามวัตถุประสงค์ มีประโยชน์เกื้อกูลต่อเป้าหมายภารกิจของหมู่คณะ
8. มาร่วมงานบุญที่วัดกับหมู่คณะโดยสม่ำเสมอ โดยปกติจะจัดขึ้นทุกวันอาทิตย์แรกของทุกเดือน เรียกว่า “วันอาทิตย์ต้นเดือน” ซึ่งจะมี “พิธีบูชาข้าวพระ” ในเวลาตั้งแต่ 09.30 น. ของประเทศไทย (ประเทศนอร์เวย์ในฤดูหนาวจัดงานบุญ 03.30 น.-13.00 น. ในฤดูร้อนจัดงานบุญ 04.30 น. – 13.00 น.) ท่านสามารถมาพักค้างที่วัดพระธรรมกายนอร์เวย์ได้ตั้งแต่วันเสาร์แรกของทุกเดือนเพื่อร่วมงานบุญเช้ามืดของวันอาทิตย์ต้นเดือน
นอกจากนั้น มีกิจกรรมงานบุญต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศนอร์เวย์ รวมถึงประเทศไอซ์แลนด์
9. ติดตามข่าวสารทันเหตุการณ์เกี่ยวกับการจัดงานบุญต่างๆ ได้ทางเว็บไซต์นี้ และธรรมะประจำวันได้ที่ Facebook Page วัดพระธรรมกายนอร์เวย์
10. ถ่ายทอดความรู้ ความสามารถต่างๆ ที่ใช้ในงานพระศาสนาให้กับสมาชิกที่มีความสนใจ เพื่อสร้างบุคลากรใหม่ที่มีความสามารถในการรองรับงานพระศาสนาให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การแกะสลัก, การจัดดอกไม้, การประกอบอาหาร, การถ่ายภาพ, การตัดต่อวีดีโอ, การควบคุมดูแลเครื่องเสียง, การใช้ภาษานอร์เวย์, ความรู้ธรรมะในภาษานอร์เวย์ เป็นต้น
ผลงานทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้ เราขอนอบน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
และนอบน้อมบูชาคุณแด่ “มหาปูชนียาจารย์” คือ
1. พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หรือ พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย พระผู้ปราบมาร
2. พระเดชพระคุณพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้นำในการสร้างบารมีของพวกเราทั้งหลาย
3. พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้เป็นครูบาอาจารย์ของพวกเราทั้งหลาย
4. คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย ซึ่งเรากล่าวถึงท่านโดยสรรพนามสั้นๆ ว่า “คุณยาย”